วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หวย กะ หุ้น

คราวนี้จั่วหัวแรงๆ รับวันที่ 16 ก.พ. 56 ซึ่งเป็นวันหวยออก

หลายๆ คนคิดจะลงทุนในหุ้น แต่ติดที่ว่าไม่มีความรู้ในการเล่นหุ้น

เลย

หันมาลงทุนในหวย ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ และผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ

หากมานั่งวิเคราะห์ดูแล้ว การลงทุนในหุ้นแม้จะเลือกช่วงเวลาผิด หรือเจอกีฬาสี และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมาย ยังมีโอกาสในการขาดทุน แต่ก็ไม่หมดตัวเหมือนหวย

แต่อย่างไรก็ตามด้วยการทำการตลาดที่ดีกว่าของหวย หวยจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนรายย่อย ดังนั้นวันนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับแนวทางของการออมเงิน และการลงทุนดูดีไหมครับ ที่ง่ายๆ เข้าใจไม่ยาก

1. สลากออมสิน คือหวยประเภทหนึ่ง ที่ให้ทางธนาคารออมสินเอาเงินเราไปใช้ แลกกับโอกาสในการถูกหวย รางวัลสูงสุด 10 ล้านบาท (เอง) หลังจากครบสัญญา เอาหวยใบนี้ไปคืนกับธนาคาร แล้วก็รับเงินกลับ เอาง่ายๆ เงินไม่หาย แต่มีโอกาสเฮง สลากออมสินมีฝาแฝดคนหนึ่งชื่อ สลาก ธกส. ซึ่งโดยรวมแล้วคล้ายๆ กันเลย แต่ราคาต่อใบจะสูงกว่าเท่านั้นเอง

2. กองทุนรวม เป็นการระดมเงินทุนหลายๆ คนที่มีความคิดที่จะลงทุนในด้านเดียวกัน เช่น ทางด้านตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือจะเป็น น้ำมัน ทองคำ แต่ว่าเอาเงินส่วนหนึ่งไปจ้างคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยดูแลเงินก้อนนี้ให้หน่อย พอเอาเงินไปลงทุนแล้วมีเงินเพิ่มขึ้นก็เฉลี่ยๆ คืนๆ ตามคนที่ลงหุ้น กองทุนรวมนี้มีโอกาสขาดทุนมากพอๆ กับการที่จะได้กำไร ขึ้นอยู่กับความสามารถของคนที่เราไปจ้างมา สภาพเศรษฐกิจ หรือการเมือง แต่อย่างไรก็ตามคงไม่หมดตัวเหมือนหวย

วันนี้ก็ขอแนะนำกันเพียงคร่าวๆ ถึงแนวทางในการนำเงินไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น ให้ในวันหนึ่งข้างหน้าจะเป็นเงินในวันสุขของเรา...

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การจ่ายภาษี

การเงินในวันสุข ในเรื่องแรกที่อยากจะเขียนคือ การจ่ายภาษี

เมื่อวานได้รับโทรศัพท์ น้องเค้ามีรายได้ประมาณ 220,000 บาท แต่ทางบริษัทไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เลย ต้องเสียภาษีไหม กลัวโดนจ่ายภาษีจัง...

โดยปกติแล้วผู้มีรายได้ทุกคนต้องจ่ายภาษี แต่อยู่ในรูปแบบไหนล่ะ

1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนใหญ่จะโดนกันทุกคน

2. ภาษีเงินได้ฯ บางคนโดน บางคนไม่โดน บางคนได้คืน ***

3. ภาษีอื่นๆ เช่น ที่ดิน ป้าย รถ สรรพสามิต ฯลฯ สารพัดที่จะโดน

แต่วันนี้ขอพูดคร่าวๆ คือ ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้ คิดง่ายๆ คือหาตังค์มาได้เท่าไรในแต่ละปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน แล้วเอามาคิดภาษีตามฐานภาษี

ตัวอย่างเช่นน้องคนนี้ 220,000 - 60,000 (ค่าใช้จ่าย) - 30,000 (ค่าลดหย่อนส่วนตัว) - 6,300 (ประกันสังคม) = 123,700 บาท (เงินได้สุทธิ)

จากฐานภาษี 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แสดงว่า น้องคนนี้ยังไม่ต้องเสียภาษีในปี 2555

แต่ในปี 2556 ถ้าน้องมีรายได้เพิ่มขึ้นล่ะ เราก็ต้องมานั่งคำนวณกันใหม่ แต่จำไว้คร่าวๆ ก็แล้วกัน "หากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนยังไม่เกิน 20,000 บาท ฟันธงว่ายังไม่ต้องเสียภาษี"